Tag: DeFi

Decentralized Finance (DeFi) ต่างจาก Traditional Finance ยังไง?

ปัจจุบันนี้ ดิจิทัลได้เข้ามาปฏิวัติระบบการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Finance) ให้เกิดระบบการเงินดิจิทัลใหม่ ที่มีจากแนวคิดของการสร้างระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ด้านการเงินมีความคล้ายกับวิถีการเงินดั้งเดิมแต่ถูกผูกด้วยแนวคิดและวิธีการด้านดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสินทรัพย์ การโยกย้ายสินทรัพย์ การให้กู้ยืม ตลาดการเงินการลงทุน และการเงินในรูแบบใหม่ ๆ บนแนวคิดการเงินไร้ตัวกลางอีกมากมาย และในอนาคตก็อาจจะเป็นทางเลือกของระบบการเงิน และมีความเป็นไปได้ว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิมจะค่อย ๆ เลือนหายไป

อาจกล่าวได้ว่า Decentralized Fiance มีจุดเริ่มต้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งหากจะพิจารณาความแตกต่างระหว่าง Traditional และ DeFi กันแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงมิติของการเปิดเผย ความโปร่งใส และความปลอดภัยกับการทำธุรกรรมการเงิน และระบบการเงิน

DeFi (Decentralized Finance) ระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง เป็นระบบการเงินที่ทำงานอยู่บนซอฟต์แวร์ซึ่งถูกสร้างไว้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบสาธารณะ (Public blockchain) อีกที และมีเป้าหมายเพื่อปฏิวัติระบบการเงินแบบเดิม หรือเป็นทางเลือกสำหรับการเงิน เมื่อเทียบกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร ซึ่งอยู่ในลักษณะของการรวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง คือตัวสถาบันนั่นเอง

หากจะมองย้อนไปในช่วงหนึ่งจะพบว่ามีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเช่น ICO (Initial Coin Offering) ที่มีลักษณะเหมือน IPO (Initial Public Offering) ซึ่งหมายถึงการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก แต่สำหรับ ICO นั้น คือการเสนอขายแนวความคิดของการสร้างเหรียญโทเคน กับการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) เพื่อให้เกิดการลงทุนในผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ตลอดจนเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี (Crytocurrency) ที่สร้างอยู่บนรากฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน จึงทำให้เราได้รู้จักกับ บิตคอยน์ (BitCoin) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลสกุลแรก และตามมาด้วยเงินดิจิทัลอีกหลายสกุล เช่น อีเธอเรียม (Etherium) ริปเพิล (Ripple) โอมิเซะโก (Omise Go) 

สำหรับ Smart contract นั้นถือเป็นชุดคำสั่งของคอมพิวเตอร์​ ที่เปิดเผยให้ใครก็สามารถเข้าถึงและเข้าใจคำสั่งหรือเงื่อนไขได้เพียงแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในชุดคำสั่งหรือโค้ดภาษาคอมพิวเตอร์ โดยที่ชุดคำสั่งนี้จะเป็นตัวช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขบน Smart contract เองเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมกับธนาคาร ก็จะมีธนาคารเป็นผู้บริหารจัดการกิจกรรมการเงินนั้นให้สำเร็จปราศจากข้อผิดพลาด

เมื่อประกอบ Cryptocurrency และ Smart Contract เข้าด้วยกันตามที่กล่าวแล้ว จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า DeFi นั่นเอง


ความแตกต่างระหว่าง Decentralized Finance และ Traditional Finance


การทำธุรกรรมการเงินในปัจจุบันอาศัยความน่าเชื่อถือเป็นหลัก เช่น การฝากเงินเพื่อหวังผลกำไร เดิมเราจะมีธนาคารเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการ ดูแลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เราเกิดความสบายใจและไม่กังวลว่าการฝากเงินนี้จะไม่มีการสูญเงิน ส่วนธนาคารเองก็เอาเงินนั้นไปบริหารต่อ เช่น การปล่อยกู้เพื่อให้เกิดกำไรงอกเงย และท้ายสุดก็คืนผลกำไรกลับมาให้กับเราซึ่งเป็นผู้ฝากเงิน และธนาคารอาจจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามนโยบายที่วางไว้ เกิดความล่าช้าจากการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ  ต่างจากที่หากเราต้องการปล่อยกู้เองโดยตรงซึ่งไม่มีคนกลาง มีความรวดเร็วเพราะติดต่อโดยตรง ไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่เราย่อมจะต้องยอมรับสภาพความเสี่ยงในกรณีลูกหนี้หนีไปให้ได้ด้วย

ในส่วน DeFi แล้ว การทำธุรกรรมทางการเงินจะดำเนินการผ่านซอฟต์แวร์ที่อยู่บน Blockchain เพื่อเป็นตัวกลางเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน เป็นระบบที่ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลตรวจสอบได้ ทำให้การทำธุรกรรมการเงินสมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน มีค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่น้อยกว่า มีความรวดเร็วในการดำเนินธุรกรรมมากกว่า ดังนั้น ประเด็นความแตกต่างหลักที่เห็นได้ชัดคือ

1. DeFi จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสาธารณะซึ่งเป็นตัวกลางที่คนชื่อถือ ดำเนินการด้านธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ต่างจากแบบ Traditinal คือให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้บริหารจัดการ และใช้กฏหมายในการควบคุม เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

2. DeFi มีความเปิดเผยมากกว่า สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายมากกว่า มีเพียงอุปสรรคในการเข้าสู่โลกของ DeFi ซึ่งผู้ที่จะเข้าสู่ DeFi ได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทักษะและความเข้าใจในการเขียนโปรแกรม จึงจะสามารถดำเนินการสร้างบริการด้านการเงินบนบล็อกเชนสาธารณะได้

ตัวอย่างการโอนเงินระหว่าง Traditional Financial เทียบกับ DeFi

สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ DeFi ณ ปัจจุบัน


1. สกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) เนื่องจากเงินดิจิทัลค่อนข้างมีความผันผวนสูง จึงมีการออกสกุลเงินดิจิทัลที่มีความแตกต่างจาก Cryptocurrency อื่น ๆ โดยที่ตัว Stable Coin จะผูกกับสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น เงินตรา (Fiat money) หรือสกุลเงินดิจิทัลด้วยกันเอง หรือสินทรัพย์อื่นในสัดส่วน 1:1 ตัวอย่างของ Stable Coin ได้แก่ USDT หรือ Tether  ที่ผูกกับดอลลาร์สหรัฐ หรือ Digix Gold ที่อิงกับทองคำ โดย 1 DGX เท่ากับ 1 กรัมของทองคำจริง หรือสกุล Dai ที่เตรียมสำหรับการทำธุรกรรม DeFi มีค่าเทียบเท่า 1 ดอลลาร์ และของไทยเอง ณ ปัจจุบันก็มี ไทยบาทดิจิทัล (THT)  ที่ 1 THT เทียบเท่ากับ 1 บาท เป็นต้น

2. การปันผล Passive income (Staking) คือการที่ตลาดแลกเปลี่ยนเงินคริปโตเปิดบริการ Staking ให้กับลูกค้า โดยหากลูกค้าฝากคริปโตสกุลที่กำหนดไว้ ตลาดแลกเปลี่ยนรายนั้นก็จะปันผลคริปโตสกุลนั้นเข้ากระเป๋า (Wallet) ทุกเดือน เช่น ในไทยเราก็มี Satang Pro ที่จะได้รับ Zcoin เป็นเงินปันผลทุกเดือน หากเราฝาก Zcoin ไว้

3. บริการกู้ยืมระหว่างบุคคล หรือการกู้ยืมแบบ (Peer-to-peer Lending) เป็นบริการที่ผู้ปล่อยกู้เหรียญคริปโต เช่น Etherium, Dai, BAT ได้ โดยผู้ฝากนำเหรียญมาฝากไว้ในพูลเพื่อสภาพคล่องด้านการเงินดิจิทัล (Liquidity pool) และระบบจะจับคู่การทำธุรกรรมกู้ยืมพร้อมอัตราดอกเบี้ยให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ปล่อยกู้จะได้รับค่าตอบแทนตามอัตราส่วนที่ถูกกู้ออกไป ส่วนผู้กู้นั้น จำเป็นต้องวางของค้ำประกัน (Callateral) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหรียญสกุลที่กำหนดไว้ก่อนกู้ และพร้อมกับจ่ายดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นตามกำหนด

แพลตฟอร์มที่นิยมสำหรับการกู้ยืมนี้ ได้แก่ Compound Finance ซึ่งมีลักษณะเหมือนโรงรับจำนำกล่าวคือ ผู้กู้จะต้องนำเหรียญมาค้ำประกันไว้ และกู้ได้ตามอัตราส่วนของเหรียญนั้น ปัจจุบัน Compound Fiance ได้ออกเหรียญ COMP ซึ่งถือเป็นเหรียญ Governance ของตน ทำให้ผู้ถือ COMP สามารถโหวตหรือเปลี่ยนแปลงระบบ ทำให้ผู้ที่ปล่อยกู้ได้รับทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และเหรียญ COMP ซึ่งรวมแล้วถือเป็นผลตอบแทนที่สูงมาก

ส่วน MakerDAO ที่เป็นแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินเช่นเดียวกัน แต่ใช้แนวคิดขององค์กรที่ไม่มีลำดับชนชั้น (Decentralized Automonouse Orgainization – DAO) ที่ทุกคนมีอำนาจในการออกเสียงสำหรับกลไกด้านธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้ง MakerDAO ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เริ่มสร้างสกุลเงิน Dai เข้ามาใช้ในระบบ DeFi ด้วย

4. ตลาดแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchange – DEX) ซึ่งเป็นที่ ๆ ช่วยให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถแลกเปลี่ยนคริปโตโทเค็น (โทเค็นที่สร้างจากแพลตฟอร์มที่ครอบบนบล็อกเชนนั้น ๆ อีกที เช่น โทเค็น ERC20 ถูกสร้างมาครอบบน Etherium blockchain) ซึ่งมีความแตกต่างจากตลาดแลกเปลี่ยน (เว็บเทรด) แบบ Cryptocurrency Exchange เช่น Binance BitKub หรือ Satang Pro เอง เนื่องจากตลาด Cryto Exchange นั้น มีตลาดแลกเปลี่ยนเป็นผู้ควบคุมการทำธุรกรรม ตัวเงินเองจะอยู่ในตลาดและราคาจะเป็นไปตามกลไกอุปสงค์อุปทานในตลาดนั้น แต่สำหรับ DEX เอง กลไกการแลกเปลี่ยนจะถูกควบคุมด้วยโปรโตคอลของแพลตฟอร์มนั้น ตัวเงินจะอยู่ในกระเป๋า (Wallet) ของแต่ละคนไม่ได้อยู่ในตลาด ส่วนราคาจะถูกกำหนดโดยอัลกอริทึมซึ่งเป็นสมการแลกปลี่ยนแบบอัติโนมัติ หรือที่เรียกว่า AMM (Automated Market Maker) โดย DEX ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Uniswap, Pancake Swap, SushiSwap เป็นต้น

และล่าสุด มีแพลตฟอร์มที่ให้บริการครบวงจรในด้านการเงินดิจิทัลชื่อ Definix ซึ่งเป็นนักพัฒนารายเดียวกันที่ได้ทำ Six token เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาด Exchange โดย Definix นั้นมีแนวความคิดในการสร้างผลตอบแทนด้วยการเพิ่มสภาพคล่องในพูล (Liquidity pool) แล้วรับเหรียญ LP เพื่อนำมาใช้ทำฟาร์มเงินดิจิทัลต่อ พร้อมทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนในลักษณะแบบ DEX ในแพลตฟอร์มเดียวกันได้อีกด้วย และความท้าทายของผู้ที่คล่องในด้านการเงินดิจิทัลแล้ว สามารถลงทุนในกองทุนบริหารเงินดิจิทัลได้อีก เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ คริปโตที่เพิ่มมูลค่าอย่างมากในปัจจุบัน

5. สลากกินแบ่งคริปโต (Crypto Lotto) เป็นอีกแพลตฟอร์ม DeFi ที่มีกลไกคล้ายคลึงกับการซื้อลอตเตอรี่หรือสลากกินแบ่งแต่มีผลกำไรที่น่าจะมากกว่าและอยู่ในหลายรูปแบบกว่า เช่น แพลตฟอร์ม PoolTogether ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า “ลอตเตอรี่ที่ไม่มีวันขาดทุน” สามารถรับดอกเบี้ยพร้อมลุ้นรางวัลต่าง ๆ ได้ คล้ายกับสลากออมสิน มีวิธีการทำงานคือเมื่อเข้าร่วมโดยการฝากเหรียญ Stable Coin อย่าง Dai ไว้ที่ “Pool” แล้ว ก็จะมีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่ได้ ซึ่งรางวัลทั้งหมดเกิดจากดอกเบี้ยสะสมนั้นเอง

6. DeFi กลุ่มอื่น ๆ นั้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม DeFi ทยอยเกิดใหม่และได้รับความนิยม ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มรูปแบบของการเงินต่าง ๆ เช่น Assets, Derivatives, Payments เป็นต้น

หากต้องการศึกษาแพลตฟอร์มต่าง ๆ และผลกำไร ที่เกี่ยวข้องกับ DeFi  สามารถศึกษาได้ที่ >>> https://defipulse.com

บทความโดย: คุณประพาฬ กาญจโนภาศ

Contact us

What SocialEnable do ?

Watch our 1 minute for SocialEnable